Sunday, September 24, 2006

EFI Extensible Firmware Interface



บังเอิญไปได้เห็นเค้าพูดคุยกันใน Freemac board ด้วยความที่เรารู้น้อยเรื่องคอมพิวเตอร์ด้วยเลยต้องไปสืบเสาะหามาเป้นน้ำจิ้มสมองกันหน่อยว่ามันคืออะไร ว่าแล้วก็ทำอย่างเคยเปิด google search เลย
-------------------
วิศวกรของ Intel กล่าวว่า “กว่า 20 ปีมาแล้วที่พีซีต้องทำงานโดยขึ้นอยู่กับ BIOS (Basic Input/Output System) ซอฟต์แวร์ชุดคำสั่งรูทีนที่อยู่ในชิปบนเมนบอร์ด ซึ่งเป็นต้นตอสำคัญของปัญหาต่างๆ มากมาย” หรือว่าจะถึงเวลากำจัดจุดอ่อนแล้ว
Mark Doran วิศวกรจาก Intel ผู้อยู่เบื้องหลังเทคโนโลยี Extensible Firmware Interface (EFI) ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นไอเดียของพีซีที่ไม่ใช้ไบออส “ผมเริ่มต้นด้วยการถามผู้จัดการอาวุโสของ Intel ว่า ถ้าเราต้องการแค่พื้นที่ว่างๆ แทน BIOS จะเป็นอย่างไร ?” เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้ว ผู้ออกแบบ BIOS ของ IBM PC ก็ไม่เคยคิดว่า จะมีการใช้ BIOS นานขนาดนี้ พวกเขาคิดแค่ว่า BIOS จะถูกนำไปใช้กับพีซีประมาณ 250,000 เครื่องเท่านั้น

ผู้ใช้ส่วนใหญ่จะรู้จัก BIOS ในฐานะของชุดคำสั่งลึกลับที่ใช้สำหรับการปรับแต่งระบบ และแสดงผลลัพธ์ของการทดสอบการทำงานมากมายที่ปรากฏขึ้นตอนกดสวิตช์เปิดเครื่อง แม้ว่างานของมันคือการเชื่อมต่อการทำงานของฮาร์ดแวร์ต่างๆ มากมายในพีซีเข้ากับระบบปฏิบัติการ แต่ทุกวันนี้เราจะพบว่า มันไม่มีมาตรฐานของวิธีการสร้าง หรือปรับแต่ง BIOS แต่อย่างใด ปัญหาความไม่เข้ากันระหว่างเมนบอร์ด และ BIOS จึงเกิดขึ้นให้ได้ยินอยู่เสมอ

และถ้าเราใช้ BIOS ในการเปลี่ยนค่าปรับแต่ง หรือตรวจสอบปัญหา บ่อยครั้งที่พบว่า มันไม่สามารถช่วยอะไรได้มากมายนัก และจะไม่ค่อยเหมือนกันในพีซีแต่ละเครื่อง แม้แต่พนักงานแผนกซัพพอร์ตที่มีความคุ้นเคยกับ BIOS นั้นๆ เป็นอย่างดีก็ยังไม่สามารถบอกได้เหมือนกันว่า ผลลัพธ์ที่ได้จากการปรับแต่งคืออะไร ? (จะดีขึ้น หรือแย่ลงไปกว่าเดิม)

EFI คือทางออกของการแก้ปัญหาข้างต้น ความจริง EFI ก็คือระบบปฏิบัติการเล็กๆ ที่ทำงานด้วยตัวมันเองไม่ยึดติดข้อจำกัดของ BIOS ซึ่งความแตกต่างแรกที่ผู้จะเห็นได้ก่อนเลยก็คือ หน้าจอแรกที่ปรากฏขึ้นตอนเปิดเครื่องที่จะไม่เหมือนกับ BIOS เนื่องจาก EFI สนับสนุนการแสดงผลที่ความละเอียดสูง หน้าจอใช้งานจึงเป็นกราฟิก แทนที่จะเป็นกรอบของข้อความเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ EFI ยังมีความสามารถในการทำงานกับระบบเครือข่ายในตัวเองอีกด้วย ซึ่งทำให้เราสามารถตรวจสอบระบบทางไกล (remote diagnostic) ได้

แน่นอนว่า ความแตกต่างที่เกิดขึ้นย่อมไม่ได้มีเฉพาะส่วนที่เป็นอินเตอร์เฟซเท่านั้น Doran กล่าวว่า “ที่ผ่านมาการเขียนโปรแกรมเพื่อเข้าถึง BIOS จะต้องใช้ภาษาระดับต่ำอย่างแอสเซมบลี ซึ่งน่าจะเลิกได้แล้ว สำหรับ EFI เกือบทั้งหมดจะถูกเขียนขึ้นมาด้วยภาษา C ที่นักพัฒนาสามารถสร้างโปรแกรมเพิ่มเติมการทำงานได้ อย่างเช่น การตรวจสอบระบบที่ละเอียดยิ่งขึ้น และมีประโยชน์มากขึ้น (แสดงข้อความผลลัพธ์ที่เข้าใจได้) หรือแม้แต่การเขียนโปรแกรมตรวจสอบระบบเอง และการค้นหาต้นตอของปัญหาที่ทำให้ระบบปฏิบัติการหยุดทำงาน

“แนวคิดก็เหมือนกับการใช้ชีวิตหลังความตาย ในกรณีที่ OS เกิดหยุดทำงานขึ้นมาเฉยๆ คุณจะยังสามารถเข้าไป ใน EFI เพื่อตรวจสอบดูสถานะของเครื่องขณะนั้น รวมทั้งเปลี่ยนค่าคอนฟิกต่างๆ โหลดไดรเวอร์ตัวอื่นแทน และสั่งเริ่มต้นทำงาน”

ในการสาธิตความสามารถของ EFI ได้มีการแสดงให้เห็นว่า ระบบกำลังเปลี่ยนไดรเวอร์ของเน็ตเวิร์กบนเครื่องที่ทำงานอยู่ได้ทันที หรือการเปลี่ยนค่าปรับแต่งหลายๆ ครั้งให้กับอุปกรณ์เชื่อมต่อ USB และเนื่องจาก EFI จะมีระบบไฟล์ของมันเอง โดยใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งบนฮาร์ดดิสก์ ดังนั้นพื้นที่ส่วนนี้อาจจะกลายเป็นที่เก็บชุดยูทิลิตี้ต่างๆ ที่ใช้ในการควบคุมฮาร์ดแวร์ก็ได้

ที่สุดแล้ว EFI จะสามารถทำหน้าที่แทน BIOS ได้อย่างสมบูรณ์ Doran ยังกล่าวอีกว่า “เราไม่คิดว่า ผู้ใช้จะเลิกใช้ BIOS ได้ในข้ามคืน ดังนั้น EFI จึงถูกออกแบบให้สนับสนุนการทำงานกับระบบดั้งเดิมได้ด้วย โดยจะทำงานอยู่บน BIOS อีกทีหนึ่ง และเข้าไปจัดการควบคุมการทำงานตามความเหมาะสม”
-----ที่มา www.arip.co.th-----

No comments:

การทำ Repair Permission บน Mac OS X El Capitan ด้วย Command Line

เนื่องด้วยว่า Finder บน Mac ทำงานดูช้าๆ และที่แปลกคือรูป Icon กุญแจใน System Preferences หายไป และพอเข้าไปใช้ Disk Utility ในแฟ้ม Applicatio...